วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ICT ในยุคปัจจุบัน




ICT ในยุคปัจจุบัน



  (ที่มาของรูปภาพ::http://www.allcompanyonline.com/news/the_use_of_ict_for_smb/)
                                 
                โลกในยุคปัจจุบันได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัติกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เจริญรุดหน้าอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนต่างมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งผลผลิตต่างๆล้วนแล้วแต่มาจากความคิดของมนุษย์ทั้งสิ้น  ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ICT - Information Communication Technology หรือ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อวิถีการดำเนินชีวิตในสังคมยุคปัจจุบันอย่างมากทั้งทางตรงและทางอ้อม   เนื่องมาจาก ICT ช่วยลดข้อจำกัดด้านเวลา สถานที่ บุคลากร การลงทุน การเข้าถึงและแสวงหาแหล่งความรู้ จึงทำให้ ICT เป็นพื้นฐานสู่การขับเคลื่อนต่าง ๆ ของโลก สังคมอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ต่างถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลข่าวสาร ดังที่กล่าวขานกันว่ายุคปัจจุบันคือยุคของสังคมสารสนเทศ หรือยุคของสังคมข้อมูลข่าวสาร   เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนั้นไม่เพียงแต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บบันทึก ประมวลผลข้อมูล ตลอดจนทำรายงานต่างๆเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเผยแพร่และกระจายสารสนเทศไปทางโทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์  e-mail  ดาวเทียม เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่า ICT ทำให้เกิดความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและรวดเร็วระหว่างหน่วยต่าง ๆ ของประชาสังคม (civil society) ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน สภาวการณ์ในปัจจุบัน ทำให้สารสนเทศ และ ความรู้ มีบทบาทสูงมากโดยเฉพาะในระบบเศรษฐกิจ และในการช่วยเสริมสร้างความมั่งคั่งและงานอาชีพต่าง ๆ ให้กับสังคมทุกระดับ(wealth & employment creation) สภาวการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดกระแสการใช้ "เทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารและความรู้" เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคมท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์   ซึ่งทำให้เกิดการสร้างโอกาสการรับรู้ กระจายข้อมูลข่าวสารได้อย่างทั่วถึง จึงนำไปสู่การพัฒนาเป็นสังคมเศรษฐกิจที่มีฐานแห่งความรู้ (Knowledge-based Society and Economy)  ซึ่งเป็นยุคที่ 4 จากสิ่งที่อัลวิน ทอฟเลอร์ ซึ่งได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมมนุษย์ไว้ 3 ยุค ซึ่งได้แก่
                ยุคแรก (First Wave) ยุคเกษตรกรรมที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติและวัตถุดิบเป็นพลัง

                ยุคที่สอง (Second Wave) ยุคอุตสาหกรรมที่เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์

                ยุคที่สาม (Third Wave) ยุคแห่งสังคมข่าวสาร 

             กระแสโลกาภิวัตน์นี้เกิดจากการพัฒนาขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งของ ICT  ทำให้โลกเล็กลงและมีลักษณะเป็นหมู่บ้านโลก (Global Village) มากขึ้น โลกมีลักษณะไร้พรมแดนซึ่งจะเห็นได้จากการก้าวเข้าสู่ยุคการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตระหว่างประเทศ  ในทางเศรษฐกิจ ปัจจัยการผลิตมี 4 อย่าง ได้แก่ ที่ดิน ทุน แรงงาน และการประกอบการ แต่จากเนื่องจากความเจริญก้าวหน้าของ ICT ที่ทำให้โลกของการทำงานและสถานที่ทำงานได้ถูกปฏิรูปไปอย่างรวดเร็วราวกับใช้เวทมนตร์  คนทำงานไม่ต้องอยู่ในที่ทำงาน บริษัทต่างๆได้มีการแข่งขันกันมากขึ้น  ICTและโลกาภิวัฒน์นำเราไปสู่เศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนฐานความรู้ การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและความรู้เป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับการสร้างความมั่งคั่ง และกลายเป็นที่มาของอำนาจ ทำให้อุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ เช่น เทคโนโลยีทางการสื่อสาร คอมพิวเตอร์   โทรคมนาคม ธุรกิจทางการเงินและการบันเทิง ธุรกิจเพื่อสุขภาพ การท่องเที่ยว  กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อความมั่งคั่งของชาติมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงมาก  ซึ่งทำให้ความสำคัญของความอยู่รอดและการแข่งขันอยู่ที่ข้อมูลที่ถูกดัดแปลงมาจากการใช้งานด้วยสมองและความคิดของมนุษย์  ดังที่ Walter Wriston (1992) ได้กล่าวไว้ว่า “ที่ตั้งของเศรษฐกิจยุคใหม่ ไม่ใช่ไมโครชิพและเครือข่ายการสื่อสารทั่วทั้งโลกที่มีอยู่ แต่มันกลับกลายเป็นความคิดของมนุษย์”  จึงทำให้บริษัทและองค์กรทั้งหลายต่างเสาะแสวงหาผู้ที่มีทักษะความสามารถตามต้องการโดยไม่มีพรมแดนเป็นอุปสรรค ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวของแรงงาน  โดย William Johnston (1991) พบว่าผลกระทบที่สำคัญงานที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมีการเคลื่อนย้ายนั้นก่อให้เกิดผลกระทบระดับโลก ซึ่งได้แก่ การโยกย้ายถิ่นฐาน การแย่งชิงแรงงาน  และผลิตผลที่ดียิ่งขึ้น จากการปรับปรุงประสิทธิภาพของพนักงานอย่างขนานใหญ่และการจ้างงานและแรงงานที่อยู่ในประเทศอื่นมากยิ่งขึ้น  ซึ่งแรงงานที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติกับการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมากนี้ ทำให้เกิดความแตกต่างในด้านวัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยม ความเชื่อและวิธีปฏิบัติ
โลกาภิวัตน์  เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นฟันเฟืองสำคัญในการทำลายระบบเศรษฐกิจยุคเก่า ขณะเดียวกันได้ก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง มีทั้งโอกาส ความท้าทาย และอันตรายในรูปแบบใหม่ๆเกิดขึ้นมากมายบีบบังคับให้ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับรูปแบบและโครงสร้างการดำเนินการดังนั้น การที่จะสามารถนำ ICT มาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าและตรงกับเป้าหมาย จึงควรที่จะรู้เท่าทันถึง ICT  เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาและสนับสนุนในชีวิตประจำวัน การดำเนินงานต่างๆ


                ซึ่งสำหรับการใช้ ICT ในการปฏิบัติงานในหน่วยงานนั้น ส่วนใหญ่แล้วหน่วยงานราชการและบริษัทห้างร้านทั่วไป มักจะใช้ ICT เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานในหน่วยงานเท่านั้น หากแต่ทว่าเมื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วนจะพบว่าหน่วยงานเหล่านี้ต่างต้องพึ่งพา ICT ค่อนข้างมาก ซึ่ง ICT มีบทบาทมากมาย ได้แก่

                1. เป็นเครื่องมือในการจัดการเอกสารและข้อมูลต่างๆที่องค์กรจะต้องใช้ เช่น ระบบการจัดการฐานข้อมูล (RDBMS) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ช่วยในการควบคุมและจัดการข้อมูลบนหน่วยความสำสำรอง สามารถสร้าง บำรุงรักษาและเข้าถึงฐานข้อมูลสัมพันธ์ได้ โดยฐานข้อมูลระบบ RDBMS อาทิเช่น Oracle ,Sybase เป็นต้น 

                2. เป็นเครื่องมือเพื่อการประยุกต์ใช้ เช่นใช้ในการจัดทำฐานข้อมูล (Database)  และคลังข้อมูลขนาดใหญ่ (Data Warehouse)   เป็นเครื่องมือในการประมวลผลข้อมูลในรูปแบบต่างๆ เช่น ระบบ DSS , ระบบ MIS   เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานกับเอกสารเพื่อลดการใช้และการจัดเก็บกระดาษด้วยระบบ Document Management System , ระบบประชุมทางไกล (Tele Conference)

                3. เป็นเครื่องมือในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ด้วยระบบอินเตอร์เน็ต (Internet)  อินทราเน็ต (Intranet)  เอ็กซทราเน็ต (Extranet) และเวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web) เป็นต้น

   

                ICT ยังทำให้มีการเชื่อมโยงสัมพันธ์กันใกล้ชิดขึ้นระหว่างหน่วยงานต่างๆไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ชุมชน ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก โดย ICT กลายเป็นตัวชี้นำที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆขึ้น ซึ่งเมื่อ ICT เปลี่ยนรูปแบบจากเดิมที่มนุษย์จะติดต่อกันทางจดหมาย , ไปรษณีย์ รับรู้ข่าวสารทางหนังสือพิมพ์ , การพูดคุยบอกเล่ากันตามร้านกาแฟ ร้านน้ำชา ร้านขนม ศูนย์การค้า , สวนสาธารณะ โดยมีศูนย์กลางการกระจายข่าวและข้อคิดเห็นอยู่ที่หนังสือพิมพ์นั้น แต่ในปัจจุบันรูปแบการสื่อสารได้เปลี่ยนแปลงไปด้วยการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีทางการสื่อสาร (Communication Technology) เช่น T.V. , Computer , ดาวเทียม เป็นต้น จึงทำให้เกิดการแพร่กระจายของข่าวสารอย่างง่ายดายและรวดเร็ว โดยรูปแบบของการสื่อสารเป็นลักษณะการรวมตัวกันเป็นกลุ่มไซเบอร์ (Cyber Group)  เพื่อแสดงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในลักษณะกระดานสนทนา , การเขียนจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ( e-mail) , การใช้  Weblog ในการบอกเล่าเรื่องราวอย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่การซื้อขายสินค้าที่มีบาร์โค้ดของสินค้าที่นอกจากจะทำให้ผู้ขายสามารถตรวจสอบยอดขายและเสริมสินค้าตามจุดขายต่างๆได้ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ จะเห็นว่า ICT เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีการดำรงชีวิตในระดับบุคคลนั้น ถือเป็นยุคของ ชีวิตดิจิตอล (Digital Life) นั้นคือชีวิตสมัยใหม่นั้นอยู่ด้วยการเชื่อมต่อของการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจองตั๋วหนัง , จองตั๋วเครื่องบิน , การโอนเงิน , การชำระค่าบริการ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ , ทางอินเตอร์เน็ต  หรือแม้แต่กับเครื่องอำนวยความสะดวกในบ้าน ICT ถูกนำมาประยุกต์ใช้ เช่น ใช้โทรศัพท์มือถือควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยและระบบไฟฟ้าภายในบ้าน เป็นต้น ส่วนในระดับสังคมนั้นหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเร่งใช้ ICT เพื่อเปลี่ยนเป็นองค์กรอิเล็กทรอนิค เช่น การจัดทำระบบข้อมูลของภาครัฐบาล ซึ่งได้แก่ การจัดทำระบบทะเบียนราษฎร์ , ระบบเวชระเบียนในโรงพยาบาล , ระบบการจัดเก็บภาษี , การประมูลสินค้า , การใช้ ICT เพื่อสะดวกในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการผ่าตัด หรือการทำการค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e- commerce)  การจัดการฝึกอบรม (e-training)หรือการเรียนการสอนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (e-learning)

           

                แต่ ICT   ทั้งหลายมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อุปกรณ์และเทคโนโลยีบางอย่างเคยได้รับความสนใจมากระยะหนึ่ง ต่อมาอาจล้าสมัยและไม่มีใครใช้อีกต่อไป ซึ่งในขณะเดียวกันมีการคิดค้นประดิษฐ์เทคโนโลยีใหม่ๆขึ้น   และเมื่อเกิดเทคโนโลยีใหม่ที่ดีกว่าหรือมีประสิทธิภาพสูงกว่า จะทำให้เทคโนโลยีที่เคยใหม่ เก่าไปทันที เป็นวัฏจักรหมุนวนเช่นนี้เรื่อยไป ซึ่งถ้าเข้าใจธรรมชาติของเทคโนโลยี และมีการตระหนักจะทำให้เรารู้ว่าควรจะมีการตอบสนองต่อเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทั้งหลายอย่างไรและมากน้อยเพียงใด  รวมไปถึงการพิจารณาความจำเป็นของเทคโนโลยีนั้น ความเสี่ยงในการนำเทคโนโลยีนั้นมาใช้งาน 




 องค์กรที่มีการนำระบบ ICT เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการ

ทีโอที และ กปน. จับมือ นำระบบไอที บริหารจัดการน้ำสูญเสีย เพื่อบริการประชาชนและใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า



(ที่มาของรูปภาพ:: www.munjeed.com)


          บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ การประปานครหลวง (กปน.) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การใช้และให้บริการระบบสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อการพัฒนาปรับปรุงโครงข่ายสื่อสารสำหรับให้บริการประชาชน ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย พร้อมพัฒนาระบบประปา เพื่อตอบสนองการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า โดยมี นายวรุธ สุวกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) และนายเจริญ ภัสระ ผู้ว่าการการประปานครหลวง ร่วมลงนามและแถลงข่าว ณ ทีโอที สำนักงานใหญ่ แจ้งวัฒนะ

          นายวรุธ สุวกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการนำระบบไอที มาพัฒนาการบริหารจัดการสาธารณูปโภคระบบน้ำประปาของประเทศ ในด้านการควบคุมและรักษาอัตราน้ำสูญเสีย ซึ่งนับเป็นโครงการความร่วมมือในการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า รวมถึงยังเป็นการรักษาทรัพยากรน้ำให้สามารถใช้ในการบริโภคได้อย่างยั่งยืน ช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ทั้งนี้ความร่วมมือครั้งนี้ ทีโอที ได้ดำเนินการแล้วคือการติดตั้งระบบสื่อสัญญาณ IP VPN ให้กับสถานีสูบจ่ายน้ำ จำนวน 7 แห่ง และติดตั้งวงจรสื่อสัญญาณ Leased Line ให้กับสำนักงานประปาทั่วกรุงเทพฯ จำนวน 16 แห่ง นอกจากนี้ ทีโอที ยังให้การสนับสนุนการประปานครหลวง (กปน.) ในการติดตั้งและจัดหาอุปกรณ์ระบบสื่อสัญญาณ เพื่อการพัฒนาระบบ SCADA รวมทั้งนำระบบสื่อสารข้อมูลไร้สาย GPRS เพื่อช่วยพัฒนาประสิทธิภาพของระบบพื้นที่เฝ้าระวัง หรือ DMA = District Metering Area ของ กปน. เพื่อบูรณการระบบงานและข้อมูลที่เกี่ยวข้องของ กปน. เข้าไว้ด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

          นายเจริญ ภัสระ ผู้ว่าการการประปานครหลวง กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่หน่วยงานหรือองค์กรรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 หน่วยงาน สามารถผนึกกำลังร่วมกัน นำความสามารถหลักที่แต่ละองค์กรมีอยู่ มาใช้ร่วมกัน โดยเฉพาะการนำระบบไอทีมาสนับสนุนระบบน้ำประปาในครั้งนี้ เพื่อลดน้ำสูญเสีย ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งในการบริการประชาชน ในอดีต กปน.มีน้ำสูญเสียถึง 45 % แต่จากการที่ได้ปรับปรุงพัฒนามาโดยตลอด ปัจจุบัน ลดเหลือเพียง 26.5 % เท่านั้น ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายจะลดน้ำสูญเสียให้เหลือเพียง 20 % ในปี 2560 เพื่อนำน้ำส่วนที่เสียไปกลับมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด และการที่ ทีโอทีให้ กปน.ปรับปรุงระบบประปาภายในหน่วยงานของ ทีโอที ก็จะเป็นโครงการนำร่องในการลดน้ำสูญเสียในองค์กรขนาดใหญ่ และขยายผลไปสู่องค์กรภาคารัฐและเอกชนอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นการรักษาทรัพยากรน้ำได้อย่างกว้างขวางทั่วถึงทุกหน่วยงาน ความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานในครั้งนี้ คือ การเติมเต็มสิ่งที่มีคุณค่าให้แก่กัน ซึ่งเป็นการพัฒนาไปสู่สิ่งที่เป็นเลิศ เพื่อบริการที่เกินความคาดหมาย โดยมีเป้าหมายสูงสุดเดียวกัน คือ บริการประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตลอดไป

          นายวรุธ สุวกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวเพิ่มเติมว่า การร่วมมือกับ กปน. เป็นการให้บริการสื่อสารครบวงจร ICT Solution และบริการจัดการระบบ Managed Services โดย มีรูปแบบธุรกิจที่เป็นไปตามความต้องการของลูกค้า ทั้งการที่ ทีโอที เป็นผู้ลงทุนระบบเทคโนโลยีทั้งระบบ หรือเพียงบางส่วน หรือให้บริการจัดการระบบ Manageed Services เพื่อให้บริการกับทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งที่ผ่านมา ทีโอที ได้ให้บริการในลักษณะนี้ในโครงการใหญ่ ๆ อาทิ โครงการพัฒนาเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (GIN) โครงการศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร โครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการจัตุรัสจามจุรี และโครงการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมผ่านดาวเทียม TOT satellite สำหรับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช และความร่วมมือเพื่อให้บริการสื่อสารครบวงจร ICT Solution และบริการจัดการระบบ Managed Services ในโครงการศูนย์พลังงานแห่งชาติ หรือศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติงานของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ เป็นต้น

          นอกจากความร่วมมือด้านโทรคมนาคม ทีโอที และการประปานครหลวง ยังจะมีความร่วมมือในการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนา ปรับปรุง และบำรุงรักษาระบบชุมสายโทรศัพท์ย่อยในเขตพื้นที่ของ การประปานครหลวง การส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อยกระดับคุณภาพของการดำเนินงานของ การประปานครหลวง และการสนับสนุนพัฒนาและปรับปรุงระบบประปาภายในหน่วยงานของ ทีโอที เพื่อสนับสนุนการใช้ทรัพยากรน้ำให้คุ้มค่า


ทีโอที และ กปน.ได้มีการนำระบบ ICT Solution 

ระบบ ICT Solution ช่วยในการดำเนินงานด้าน ....
                    การบริหารจัดการสาธารณูปโภคระบบน้ำประปาของประเทศ ในด้านการควบคุมและรักษาอัตราน้ำสูญเสีย ซึ่งนับเป็นโครงการความร่วมมือในการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า รวมถึงยังเป็นการรักษาทรัพยากรน้ำให้สามารถใช้ในการบริโภคได้อย่างยั่งยืน ช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นทุกปี

ประโยชน์ที่ได้รับจากการนำระบบ ICT Solution  มาใช้ คือ

- เพื่อนำน้ำส่วนที่เสียไปกลับมาใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
- ลดการเสียน้ำจะเป็นการรักษาทรัพยากรน้ำที่ได้อย่างกว้างขวางทั่วถึงทุกหน่วยงาน
-บริการประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตลอดไป
-เพื่อการสนับสนุนการใช้ทรัพยากรน้ำให้คุ้มค่า

ความคิดเห็นเกี่ยวกับ ICT ในยุคปัจจุบัน

    ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในยุคสมัยแห่งความรุ่งเรื่องในเรื่องเทคโนโลยีด้านต่างๆ เข้ามามีบทบาทในชีวิตเราเกือบจะเรียกได้ว่ามองไปทางไหนๆก็ต้องพบเจอกับประโยชน์และความสะดวกสบายของสิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือ ICT
          Ict เป็นเทคโนโลยีที่ให้ความสะดวกสบายแก่มนุษย์มากมาย ทั้งด้านการประกอบอาชีพ การศึกษาและด้านสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม ขึ้นอยู่ที่เราจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้มากน้อยแค่ไหน

          Ict ในปัจจุบันเป็นที่รู้จักของผู้คนทุกรุ่นทุกวัย ตั้งแต่วัยเด็กอายุ 5 ขวบ จนถึงวัยชรา  และ ict ที่รู้จักกันเยอะที่สุดคือ ict ในรูปแบบของคอมพิวเตอร์ที่มีเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันนี้สามารถไปได้กว้างไกลทั่วโลกภายในเวลาไม่กี่วินาทีซึ่งเป็นพรมแดนที่ไร้ขอบเขต และในความกว้างไกลและสะดวกสบายของการใช้ ict รูปแบบนี้ต้องพบกับข้อดีและข้อเสียเป็นธรรมดา ซึ่งข้อดีข้อเสียนั้นผู้ใช้เป็นผู้กำหนดได้ว่าจะเรียนรู้ในด้านใด เพราะในโลกอินเตอร์เน็ตนั้นเราไม่มีการกีดกั้นสิ่งใดแก่ผู้ใดเลย และผู้ที่ใช้ ICT ด้านนี้มากที่สุดคือ วัยรุ่น ที่นิยมเล่นเกม หางานการศึกษา พูดคุยแชทผ่านทางอินเตอร์เน็ตซึ่งเป็นเครือข่ายสังคมที่ในปัจจุบันนี้มีให้เห็นอยู่มากมาย ดังเช่น Facebook ซึ่งมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดี เช่น สามารถพบเจอ พูดคุยกับเพื่อนที่เราไม่ได้เจอมานานตั้งแต่สมัยเด็ก หรือพูดคุยกับเพื่อนที่อยู่คนละประเทศได้อย่างสบายโดยไม่ต้องเสียค่าโทรศัพท์ หรือสอบถามงานการบ้านกับเพื่อน ส่วนข้อเสียคือ การแชทกับผู้คนแปลกหน้าและนัดเจอ อาจนำมาซึ่งอันตรายหลายอย่างแก่ตัวเราดังที่พบเจอตามข่าวหนังสือพิมพ์ต่างๆ การหมกมุ่นอยู่กับสิ่งอนาจารที่เผยแพร่ และที่สำคัญคือการไม่ทำการบ้าน ไม่อ่านหนังสือซึ้งเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับวัยนี้มาก นอกจากการเล่น Facebook นั้น ก็ยังมีเว็บไซด์อื่นอีกมากมายที่ให้ทั้งความรู้ ประโยชน์ แต่ก็เช่นเดียวกันในเรื่องดีๆต้องพบเจอกับข้อเสียเสมอซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ใช้จะพิจารณาว่าควรนำสิ่งใดไปประยุกต์ใช้

          ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับคนที่จะใช้อินเตอร์เน็ตไปในทางใด หรือค้นหาข้อมูลประเภทใด เรามักได้ยินข่าวเสมอว่า มีคนใช้อินเตอร์เน็ตในการหลอกลวงเด็กสาว หรือต้มตุ๋น หรือใช้อินเตอร์เน็ตในการยั่วยวนทางเพศ หรือขายบริการทางเพศ ขายวีซีดี หนังโป๊ มีการเผยแพร่ภาพลามกผ่านอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

   
อ้างอิง


สุพินดา  ธีระวราพิชญ์.2556.รู้เท่าทัน ICT  นวัตกรรมชีวิตดิจิตอล.(ออนไลน์).แหล่งที่มา : www.ru.ac.th/hu812/a20.doc. 9 กุมภาพันธ์ 2556.


กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร.2550.ทีโอที และ กปน. จับมือ นำระบบไอที บริหารจัดการน้ำสูญเสีย เพื่อบริการประชาชนและใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า.(ออนไลน์).แหล่งที่มา: http://www.mict.go.th/ewt_news.php?nid=3551&filename=index.9 กุมภาพันธ์ 2556.

Handhaha.2554. ICT กับชีวิตประจำวัน.(ออนไลน์).แหล่งที่มา : http://handhaha.blogspot.com/2011/01/ict-ict-ict.html.
 9กุมภาพันธ์ 2556



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น